อาการปวดคอ
อาการปวดคอ เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยถึงร้อยละ 40 หากถามย้อนกลับไป 1 ปี กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับการปวดคอ บ่า ไหล่ มักพบมากในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ หรือกลุ่มคนที่ต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมเป็นเวลานานๆ ซึ่งถ้าปล่อยไว้ไม่รักษา อาการก็อาจเรื้อรังจนกระทบชีวิตประจำวันได้
อาการปวดคอ บ่า ไหล่ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
- กลุ่มอาการทั่วไป สาเหตุเกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น (คิดเป็นร้อยละ 80) เกิดจากกล้ามเนื้อมีความเมื่อยล้าจากการใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ
- กลุ่มอาการกดทับของเส้นประสาท พบไม่บ่อยมากแต่ลักษณะอาการรุนแรง มีอาการปวดรุนแรง ตึง ร้าวลงแขน หรือมีอาการชาร่วมด้วย
- อาการกดทับของไขสันหลัง รุนแรงที่สุดแต่พบน้อยมาก (ร้อยละ 1-2%)
สาเหตุของอาการปวด แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ตามลักษณะอาการ
- การปวดแบบเฉียบพลัน หรืออาการกล้ามเนื้อยอก เคล็ด อาการที่พบได้บ่อยๆ เช่น นอนตกหมอน ลักษณะของอาการคือกล้ามเนื้อมีการตึง เกร็ง หันคอได้ลำบาก เป็นต้น
- ปวดแบบกึ่งเฉียบพลัน หรือกลุ่มเรื้อรัง เป็นกลุ่มคนไข้ที่มีประวัติของอาการปวดคอ ปวดกล้ามเนื้อมาก่อน ลักษณะของอาการเกิดขึ้นแบบเป็นๆ หายๆ เกิดขึ้นได้เมื่อมีการใช้งานกล้ามเนื้ออย่างหนักเป็นเวลานานๆ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ไม่เพียงพอ ทำให้กลับมาเป็นได้อีก พบมากในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ
แนวทางการรักษาอาการปวด
กลุ่มที่มีสัญญาณอันตรายร่วม หรือกลุ่มเฉียบพลัน เช่น มีลักษณะอาการกดทับเส้นประสาท, มีประวัติอุบัติเหตุ, มีโรคประจำตัว (เช่น โรคมะเร็ง โรคกล้ามเนื้อกระดูกและข้อ) และในกลุ่มเด็กหรือผู้สูงอายุ ซึ่งลักษณะอาการต่างจากคนทั่วไป ต้องให้แพทย์ทำจากตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุ และวิธีการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
กลุ่มที่ไม่มีสัญญาณอันตรายร่วม แบ่งการรักษาเป็น 2 วิธี คือ
กลุ่มที่ปวดแบบเฉียบพลัน เช่นกล้ามเนื้อยอก กล้ามเนื้อเคล็ด รักษาโดยการให้พักผ่อนอย่างเหมาะสมร่วมด้วยกับการให้ยา และทำกายภาพบำบัด หรือรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม
การรักษาแบบประคับประคอง เป็นกลุ่มที่มีอาการปวดทั่วไป ไม่รุนแรง สามารถรักษาตามอาการ เช่นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นต้น แต่หากถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการเรื้อรังที่นานเกินกว่า 6 สัปดาห์ แพทย์อาจมีการพิจารณาตรวจเพิ่มเติม เช่น X-Ray กระดูกคอ เพื่อดูว่ามีอาการเสื่อม เคลื่อน หรือหมอนรองกระดูกยุบหรือไม่?
กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง หรือกลุ่มที่ทำการรักษาด้วยวิธีปกติไม่หาย ต้องมีการทำกายภาพเพื่อลดความเจ็บปวด และเสริมสร้างกล้ามเนื้อเข้าร่วมด้วย เช่น การออกกำลังกายตามโปรแกรมฝึก, การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด (เช่น เครื่องประคบร้อน, เครื่อง shock wave, การใช้ Laser) หรือการออกกำลังกายแกนกลางลำตัว และที่สำคัญเมื่ออาการปวดหายต้องมีการรักษาต่อเนื่องเพื่อป้องกันไม่ให้อาการปวดกลับมาเป็นซ้ำได้
ไม่อยากปวดคอ บ่า ไหล่ ป้องกันได้ด้วยวิธีนี้
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การปรับท่านอน การเดิน ท่านั่ง ให้เหมาะสม
- ปรับเปลี่ยนความเหมาะสมของสถานที่ทำงาน เช่น โต๊ะทำงาน เก้าอี้นั่งควรมีพนักพิงและที่วางแขน หรือ ลักษณะท่านั่งทำงาน
- การออกกำลังกายที่เหมาะสม คือ การยืดกล้ามเนื้อคอเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ และเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อ ด้วยการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ เช่น วิ่งหรือว่ายน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ความเครียดยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้อาการปวดเหล่านี้ไม่หาย อาจต้องมีการรักษาทางด้านอารมณ์ และจิตใจ ควบคู่ไปกันด้วยกับการรักษาทางร่างกาย
ขอขอบคุณบทความโดย นพ.พิษณุ สุนทรปิยะพันธ์
แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู
โรงพยาบาลพญาไท 2